เขียนโดย Admin | 0 ความคิดเห็น

นอนกรน อันตรายถึงชีวิต

นอนกรน....ภัยยามค่ำคืน อันตรายถึงชีวิต


การนอนกรน อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะปัญหาเรื่องการนอนกรนนอกจากจะสร้างความรำคาญต่อคนนอนข้างๆ แล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อระบบหายใจ และอาจทำให้คุณเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จนกระทั่งส่งผลเสียให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเรื้อรัง

   งานวิจัยในสหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์เจียง ฮี และคณะ พบว่า คนที่เป็นโรคนอนกรน ที่มีการหยุดหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าคนปกติ และจากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเป็นเพศชาย และเพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิงด้วยอัตราส่วน 7:1 แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเพศจะมีผลต่อโรคนี้ได้
    สาเหตุของโรคนอนกรนเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน คือ
1.อายุมากขึ้น เนื้อเยื่อต่างๆ จะขาดความตึงตัว ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย 2.ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คอยาว หน้าแบน ล้วนทำให้ทางเดินหายใจช่วงบนแคบลงเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดการหยุดหายใจได้
3.กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการ เกิดโรคมากกว่าคนปกติ 1.5 เท่า
4.อ้วน พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมักมีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักมาตรฐาน และมีโอกาสเกิดการหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากไขมันจะกระจายอยู่รอบๆ ทางเดินหายใจช่วงบนมากขึ้น ไขมันที่พอกบริเวณคอจะทำให้เวลาที่ผู้ป่วยนอนลง จะเกิดน้ำหนักกดทับทำให้ช่องคอแคบลงได้ ผนวกกับหน้าท้องที่มีไขมันเกาะอยู่มาก ทำให้กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจุของปอดลดลง แต่เมื่อลดน้ำหนักได้ 5-10 กิโลกรัมจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้
5.แน่นจมูก ถ้ามีภาวะใดก็ตามที่ทำให้แน่นจมูก เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือเนื้องอกในจมูก ย่อมจะทำให้การหายใจลำบากขึ้น 5.การดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิด จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่คอยพยุงช่องทางเดินหายใจให้เปิด หมดแรง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายขึ้น
6.การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้คอหอยอักเสบจากการระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย และยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และ 7.โรคต่อมไร้ท่อต่างๆ มีผลทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไป

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องนอนกรนไม่เพียงเกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะในเด็กก็พบปัญหานอนกรนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาการนอนกรนในเด็กมักมีสาเหตุมาจาก 1.ต่อมทอนซิล 2.ภาวะคัดจมูกเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ เพราะเป็นเหตุให้แน่นจมูกหายใจไม่สะดวกต้องอ้าปากช่วย ยิ่งทำให้นอนกรนได้มากขึ้น 3.ไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะมีน้ำมูกข้นและจมูกบวม ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก และ 5.ความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้กระดูกใบหน้าเล็ก หรือมีเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจใหญ่ เช่น มีลิ้นโต เป็นสาเหตุให้มีภาวะอุดตันของทางเดินหายใจในขณะนอนหลับได้

    รศ.นพ.ประกอบเกียรติ หิรัญวิวัฒน์กุล จากภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การนอนกรนแบ่งได้ 2 ชนิด คือ การนอนกรนชนิดไม่อันตราย และการนอนกรนชนิดอันตราย ซึ่งคนที่นอนกรนชนิดไม่อันตรายมักจะมีอาการนอนกรนเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เสียงกรนอาจดังหรือค่อยขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากบริเวณใด ถ้าเกิดเพราะมีเพดานอ่อนหย่อนหรือลิ้นไก่ยาว มักทำให้กรนเสียงดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย แต่ถ้ากรนจากการตึงแคบบริเวณโคนลิ้น เสียงมักเบาเหมือนหายใจแรงๆ ดังนั้นความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ แต่ถ้ามีอาการหายใจสะดุด หยุดหายใจเหมือนคนหายใจไม่ออกหรือสำลัก อันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งมักพบในอาการนอนกรนชนิดอันตราย

   ส่วนโรคนอนกรนชนิดอันตราย นอกจากจะนอนกรนเสียงดัง มีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึกแล้ว สมองจะรู้สึกตื้อ คิดอะไรไม่ออกเพราะง่วงนอน ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ไม่ได้นอนดึก บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ จุกแน่นคอเหมือนมีอะไรติดคอ หูอื้อ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง คนที่เป็นโรคนอนกรนชนิดอันตราย เมื่อยังหลับไม่สนิทอาจจะเป็นเพียงกรนปกติ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ มีลักษณะของการกลั้นหายใจ ตามด้วยการสะดุ้งหรือสำลักน้ำลาย หรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ อาจเกิดขึ้นหลายสิบหรือหลายร้อยครั้งต่อคืน
    อย่างไรก็ดี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก จากจุฬาฯ ระบุถึงวิธีรักษาการรักษาโรคนอนกรนเบื้องต้นไว้ด้วยว่า ในปัจจุบันมีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดความอ้วน หลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยให้นอนท่าตะแคงเพราะจะช่วยให้หลับดีขึ้น งดการดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ และงดยาบางประเภท เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เพราะยากลุ่มนี้มีผลต่อการหายใจขณะหลับ
    ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกรนชนิดอันตรายไม่รุนแรง มักนิยมใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ครอบฟันบนและล่าง ทำหน้าที่ยึดขากรรไกรอันล่างให้เลื่อนไปด้านหน้า อุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยให้การหายใจดีขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด    แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการนอนกรนชนิดรุนแรงมากก็จะหันมาใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) ที่จะปล่อยแรงดันบวกและทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยหลับสบาย ซึ่งปัจจุบันการรักษาด้วยเครื่อง CPAP นับว่าได้ผลดี แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ แพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขความผิดปกติด้วยการผ่าตัด
    สุดท้าย การรักษาโดยการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันว่าการหลับของตัวเองมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการผ่าตัดก็จะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ออกโดยเลเซอร์ หรือตัดฝังพิลลาร์ การใช้คลื่นวิทยุ การผ่าตัดโพรงจมูก การผ่าตัดเลื่อนคางและดึงกล้ามเนื้อลิ้นมาด้านหน้า การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาด้านหน้า เป็นต้น

ข้อมูลจาก http://www.thaipost.net

0 ความคิดเห็น: